บทความการเพาะพันธุ์กุ้งเครฟิชสาย P โกส
เครดิตผู้มอบความรู้ อาจารย์ณัฐชัย ประมวลวงศ์
1.การเตรียมพ่อพันธุ์- สำหรับผู้ที่เลี้ยงเล่นๆ เลี้ยงน้อย ก็เลือกเอาตามความชอบ ตัวไหนหล่อ ตัวไหนสวย ก็เลือกเอาตามใจได้เลย ส่วนสำหรับผู้ที่คิดจะเพาะในระดับเยอะๆ ต้องเตรียมพ่อพันธุ์ไว้หลายขนาด ต้องฟอร์มกันตั้งแต่เล็ก เนื่องจากตัวผู้ เมื่อผสมแล้ว มันจะหยุดการกินเพื่อเจริญเติบโต แต่จะกินอาหารเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น ส่วนตัวเมียมันจะโตไปเรื่อยๆ ดังนั้นหากท่านอยากได้พ่อพันธุ์ตัวใหญ่ๆ ต้องนำไปเลี้ยงแยกขังเดี่ยวตัวเดียว ห้ามให้มันได้กลิ่นตัวเมียเด็ดขาด ม่ายงั้นมันจะหยุดกิน และจะอยากผสมทันที เมื่อขุนได้ไซด์ตามที่ต้องการแล้ว ก็นำมาลองเข้าคู่ได้ ในพ่อพันธุ์หนุ่มน้อยวัยคะนอง มักจะเข้าหาตัวเมียด้วยความรุ่นแรง ออกแนวกระชากลากถู หากท่านกลัวตัวเมียจะช้ำใน หรือสูญเสียอวัยวะ ก้าม ขา หรือมีอันเป็นไป ก็ให้หากุ้งสีธรรมดา มาเป็นคู่ซ้อมให้พ่อพันธุ์ของท่านก่อนนะครับ พอกุ้งตัวผู้ที่มีความช่ำชอง เขาจะเข้าหาตัวเมียด้วยความนิ่มนวลกว่า จะเข้าทางด้านข้าง และจะผสมในระยะเวลาที่นานกว่า น้ำเชื้อก็จะถูกฉีดไปได้ในจำนวนที่สม่ำเสมอ และทั่วถึง
2.การเตรียมแม่พันธุ์
- อันนี้ก็คงไม่ยุ่งยาก ตัวเมียตัวไหน ก็คงจะตั้งท้องได้หมดนั่นแหละครับ ก็เลือกเอาตามใจชอบได้เลย ตัวเมียเงื่อนไขค่อนข้างน้อย จะก้ามไม่เท่า ก้ามเดียว ปากเบี้ยว ตาเหล่ ก็สามารถจ่ายลูกกุ้งที่สวยงามได้
3.การเลี้ยงก่อนผสม
- ในขั้นนี้หากจะให้ได้ผลที่สุด แนะนำให้แยกเลี้ยงนะครับ ช่องละตัว กล่องละตัว หรือยังไงก็ได้ ให้มันอยู่ตัวเดียว จะเป็นการดีที่สุด ส่วนท่านอื่นจะเลี้ยงรวมก็ไม่ว่ากัน
4.อุณหภูมิ
- อันนี้สำคัญสุด กุ้งเครฟิชเป็นสัตว์เลือดเย็น เป็นสัตว์กินซากที่หากินในเวลากลางคืน ง่ายๆคือ ธรรมชาติกุ้งชอบอากาศเย็น กุ้งสามารถเติบโตในอุณหภูมิปรกติบ้านเราได้ แต่ไม่สามารถเจริญพันธุ์ได้ดีนัก เนื่องจากโกส เป็นกุ้งเครฟิช ที่มีลักษณะยีนส์ด้อยมากๆ ทำให้เพาะติดยาก หากท่านใด เลี้ยงในห้องแอร์ หรือในสถานที่ควบคุมอุณหภูมิ ก็จะได้เปรียบ เนื่องจากสัตว์เลือดเย็น จะชอบอากาศเย็น และชื้น เพื่อสะสมสารอาหารไปสร้างไข่ในตัวเมีย และน้ำเชื้อในตัวผู้ หากท่านใดที่ติดหลอดไฟประดับตู้อยู่ด้านบน ก็ขอให้เอาออกนะครับ เนื่องจากกุ้งมันไม่ชอบ มันกระซิบบอกมาว่า "มึงจะติดทำไม กูไม่ชอบแสง ทำให้อุณหภูมิน้ำขึ้นอีกต่างหาก" หากท่านที่ไม่ได้ติดแอร์ หรือชิลเลอร์ ก็ขอแนะนำโดยการเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น ใส่ทรายทะเล ลงในก้นภาชนะ เพื่อให้อุณหภูมิด้านล่างพื้นเย็นขึ้น
5.จะผสมตอนไหนดี ? (ขั้นตอนนี้ละเอียดอ่อน)
- ตัวผู้คงไม่ต้องพูดถึง มันพร้อมตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนตัวเมีย โดยส่วนตัวผมผสมทีเดียว ดอกเดียว เสียวแน่นอน เนื่องจากน้ำเชื้อตัวผู้ เมื่อผสมไปแล้ว จะถูกเก็บอยู่ในตัวเมียได้ประมาณ 30 วัน ถามว่าจะดูยังไง ก็คือ กุ้งตัวเมีย เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ จะเร่งการกิน เพื่อสร้างไข่ไปเก็บไว้บนหัว สิ่งที่บ่งบอกว่ากุ้งมีไข่ ก็คือฝ้าที่หาง ยิ่งฝ้าหนาๆ ลงระยางมากๆ ก็แปลว่ากุ้งมีไข่บนหัวรอไว้แล้ว เมื่อท่านเห็นฝ้ามาแล้ว ให้ใจเย็นๆ รอจนกว่ากุ้งตัวเมียไม่ทานอาหาร นั่นแปลว่า ไข่พร้อม กุ้งสะสมสารอาหารไว้พร้อมหมดแล้ว ให้จับลงไปผสมได้เลย เทคนิคคือ ให้จับตัวเมีย ไปใส่ในช่องของตัวผู้ เนื่องจากกุ้งมีนิสัยเป็นสัตว์หวงถิ่น หากท่านจับตัวผู้ไปผสมที่อื่น ตัวไหนผสมก็ดีไป แต่บางตัวเขาจะตื่นสถานที่ พาลไม่ผสม หรือทำร้ายตัวเมียเลยก็มี เมื่อผสมเสร็จแล้ว ก็นำตัวเมียเก็บออกไปรอไข่ได้เลย ไม่ต้องนำกุ้งตัวเมียมาผสมบ่อยนะครับ เพราะกุ้งจะช้ำ และอาจจะขับไข่ไม่ออกตายได้เลยนะ
6.เมื่อไหร่มันจะไข่? ดูยังไง?
- อาการกุ้งตัวเมีย เมื่อจะไข่ กุ้งจะไปเก็บตัวอยู่ทีท่อหลบ โก่งตัว หุบหางเข้าหาลำตัว ในวันก่อนไข่ 1-2 วัน กุ้งจะเอาขาหลัง 4 ขา มาหยิบจับทำความสะอาดบริเวณระยางว่ายน้ำ ในช่วงนี้ก็คือไม่ต้องให้อาหารแล้วนะครับ ใส่สาหร่าย และใบหูกวางไว้ก็พอ เนื่องจากใส่อาหารน้ำเน่า ส่วนสาหร่ายกับใบหูกวางไม่ทำให้น้ำเสีย หากสภาวะแวดล้อม อุณหภูมิเหมาะสม กุ้งก็จะขับไข่พร้อมเมื่อกหุ้มไข่ที่สมบูรณ์ออกมาแน่นอน
7.ไข่แล้วทำไงต่อ ตื่นเต้นจัง เซลฟี่ได้มั้ย?
-เมื่อท่านเห็นกุ้งไข่ ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน หาอะไรไปปิดบังสายตามันไว้ ไม่ให้เขาเห็นเรา เอากระดาษโน๊ตจดวันที่ไข่แปะไว้หน้าตู้ แล้วก็แกล้งลืมมันไปเลย อย่าจับมันมาเล่นหรือถ่ายรูปเด็ดขาด สำหรับท่านที่ยังไม่ชำนาญ หรือในกุ้งท้องแรก ให้ผ่านไปสัก 20 วัน ท่านค่อยไปดู หากกุ้งไข่อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ทั้งสภาพน้ำที่ดี อุณหภูมิที่เย็นพอ ท่านได้ลูกกุ้งแน่นอน
*ต่อไปจะเป็นคำถามจากทางบ้านนะครับ ที่รวบรวมมาตอบให้
1.กุ้งไข่ย้ายที่ได้มั้ย?-จากการทดลองโดยส่วนตัว หากในสภาวะย้ายจากที่ร้อน ไปสู่ที่เย็น กุ้งไม่สลัดไข่แน่นอนครับ แต่หากย้ายจากที่เย็นไปที่ร้อน อันนี้ไม่เหลือ
2.ต้องเปลี่ยนน้ำมั้ย ใช้น้ำเก่า หรือน้ำใหม่?
- กุ้งถ้าตั้งท้อง โดยสภาวะสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่ม โดยส่วนตัวผมก็ใช้น้ำใหม่ตลอดครับ เวลาย้ายกุ้งไข่ ก็ยังไม่พบปัญหาการสลัดไข่
3.กุ้งสลัดไข่เพราะอะไร?
- หลักๆ คืออุณหภูมิครับ ในที่เลี้ยงที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่แรก ทำให้กุ้งไม่แข็งแรง คือสามารถเติบโตได้ แต่ไม่สามารถเจริญพันธุ์ได้เต็มที่ เมื่อกุ้งไข่ออกมา ก็จะขับไข่และเมือกหุ้มไข่ไม่สมบูรณ์ เมื่อแม่กุ้งกระพือไข่ ก็จะหลุดร่วงลงพื้น ประกอบกับไข่ไม่ได้รับน้ำเชื้อของตัวผู้ที่แข็งแรง ไข่ก็จะถูกสลัด หรือบางทีแม่กุ้งก็จะกินไข่ตัวเองจากการเครียด
4.ไข่ขึ้นรา ทำอย่างไร?
-โดยส่วนตัวนะครับ เชื่อว่าไข่ที่ไม่ได้รับน้ำเชื้อผสม จะเป็นลักษณะเหมือนรา โดยไม่ได้เกิดจากน้ำสกปรกแต่อย่างใด สังเกตุได้ว่า ในหลายๆท่าน ใช้น้ำสะอาด ไข่ก็ยังเป็นราได้ สรุปก็คือไข่เป็นราไม่ได้เกิดจากน้ำ แต่เกิดจากไข่ไม่สมบูรณ์ในตัวมันเอง
5.เอากุ้งตัวผู้หลายตัวทับ จะรู้มั้ยว่าลูกตัวไหน?
-จากการทดลอง ได้ข้อสรุปเกือบจะสมบูรณ์แล้วว่า ในกุ้งตัวเมีย สามารถเก็บน้ำเชื้อตัวผู้ได้มากกว่า 1 ตัว เช่นเอาโกสลายธงชาติตัวเมีย ถูกผสมโดยโกสส้มตัวผู้ และโกสลายธงชาติตัวผู้ ลูกที่ออกมา ก็จะเป็นได้ทั้งโกสส้ม และโกสลายธงชาติในครอกเดียวกันครับ
6.เอากุ้งต่างแพทเทิน ผสมออกมาแล้ว ลูกจะเป็นแบบไหน?
- ในกุ้งที่ยีนส์ด้อยเสมอกัน ลูกที่ออกมาครอกแรก จะออกแบ่งเหมือนพ่อและแม่ อย่างละครึ่ง และจะมีส่วนน้อยประมาณ 5% ที่จะเป็นการรวมสองแพทเทินของพ่อและแม่รวมในตัวเดียวกัน ซึ่งน่าสนใจมากที่จะนำไปพัฒนาต่อไป เป็นหลักการของการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งในบ้านเรานั่นเอง
No comments:
Post a Comment